วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

10)กำหนดปัญหาวิจัยในชั้นเรียนอย่างไร ?

ก่อนกำหนดปัญหาวิจัยในชั้นเรียน ครูต้องเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร

ปัญหา คือ ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวัง แบ่งประเภทของปัญหาได้ 3 ประเภท คือ

1. ปัญหาเชิงแก้ไขปรับปรุง คือ ปัญหาที่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวังแตกต่างกันตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันก็ยังแตกต่างกันอยู่ ถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขความแตกต่างจะมีต่อไปในอนาคต เช่น สิ่งที่ครูคาดหวังในการสอนวิชาภาษาไทย : นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน : จากการวัดผลการเรียนพบว่านักเรียนร้อยละ 60 ในชั้นเรียนไม่สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้

2.ปัญหาป้องกัน คือปัญหาที่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวังไม่แตกต่างกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่มีสิ่งบอกเหตุว่าอาจจะเกิดความแตกต่างขึ้น ถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขจะเกิดความแตกต่างขึ้นในอนาคตแน่นอน เช่น สิ่งที่ครูคาดหวังในการสอนวิชาภาษาไทย : นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน : จากการวัดผลการเรียนพบว่านักเรียนในชั้นเรียนสามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ แต่เมื่อนำผลการเรียนไปเทียบกับปีผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มว่าคะแนนการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียนลดลงเรื่อย ๆ

3. ปัญหาพัฒนา คือปัญหาที่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวังไม่แตกต่างกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถ้าไม่มีการแก้ไขในอนาคตเหตุการณ์จะเหมือนเดิม แต่ถ้ามีการแก้ไขสภาพเหตุการณ์จะดีขึ้นกว่าเดิม เช่น สิ่งที่ครูคาดหวังในการสอนวิชาภาษาไทย : นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน : จากการวัดผลการเรียนพบว่านักเรียนในชั้นเรียนไม่สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ไม่มีแนวโน้มลดลง แต่ครูต้องการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ครูจะกำหนดปัญหาการวิจัยชั้นเรียนได้ต้องศึกษาหรือสำรวจสภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนของตนเอง ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อให้เห็นว่ามีสิ่งใดบ้างที่เกิดความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่คาดหวัง โดยอาจพิจารณาจากผลการวัดคุณลักษณะของนักเรียนระหว่างจัดการเรียนรู้ ผลการประเมินปลายภาคเรียน บันทึกพฤติกรรมนักเรียน หรือสอบถามจากผู้เกี่ยวข้องกับนักเรียน ซึ่งจะทำให้ครูพบปัญหาในชั้นเรียนต่าง ๆ มากมาย เช่น นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก นักเรียนมาสาย นักเรียนหนีเรียน นักเรียนไม่ทำการบ้าน ฯลฯ แต่เนื่องจากครูมีภาระงานมากทำให้ไม่สามารถทำวิจัยชั้นเรียนได้พร้อมกันหลาย ๆ เรื่อง จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าปัญหาใดควรนำมาแก้ไขพัฒนาก่อน นอกจากนั้นปัญหาที่ได้จากการสำรวจในขั้นนี้มักเป็นปัญหากว้าง ๆ จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นรายละเอียดของปัญหา และสาเหตุของปัญหา เพื่อให้ครูเข้าใจลักษณะของปัญหาและสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง โดยใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบสำรวจ การให้เขียนรายงานตนเอง เช่น ปัญหา : นักเรียนมีอ่านหนังสือไม่ออก เมื่อพิจารณาจากการวัดผลการอ่านของนักเรียนโดยละเอียด พบว่า
•มีนักเรียนอ่านคำควบกล้ำ ร ล ไม่ถูกต้อง 60 % •อ่านเว้นวรรคไม่ถูกต้อง 10 % •อ่านออกเสียงวรรณยุกต์ผิด 20 % สะกดผิด 10% ดังนั้น ดังนั้น ครูอาจเลือกทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านคำควบกล้ำก่อน

หลังจากวิเคราะห์รายละเอียดของปัญหาแล้วให้ทำการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่า ปัญหาการเรียนรู้นั้น ๆ เกิดจากสาเหตุใด เช่น ปัญหาเกิดจากตัวครู ( ความรู้ของครู ความสามารถในการถ่ายทอด การใช้สื่อ ความเฉื่อยชา การใช้อารมณ์ ฯลฯ) ปัญหาเกิดจากตัวนักเรียน(สติปัญญา ความสนใจ เจตคติ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความตั้งใจ ความกระตือรือร้น ฯลฯ) หรือจากสาเหคุอื่น ๆ (ขาดแคลนสื่อ เอกสาร ตำรา แบบฝึก สภาพแวดล้อม ฯลฯ ) เพื่อจะได้หาวิธีแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

เมื่อครูสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาจนสามารถกำหนดปัญหาการเรียนรู้ได้แล้ว ให้กำหนดปัญหาวิจัยในชั้นเรียน
ปัญหาการวิจัยในชั้นเรียน คือ คำถามหรือข้อสงสัยอันกิดจากปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ครูต้องการค้นหาคำตอบด้วยวิธีการที่เป็นระบบหรือวิธีการวิจัย
ปัญหาการเรียนรู้ : นักเรียนอ่านคำควบกล้ำไม่ถูกต้อง
ปัญหาการวิจัย : วิธีสอนใดที่จะช่วยแก้ปัญหาการอ่านคำควบกล้ำของนักเรียนได้ หรือถ้าครูได้เลือกนวัตกรรมแล้วสามารถตั้งปัญหาวิจัยได้ ดังนี้ แบบฝึกอ่านคำคล้องจองจะช่วยให้นักเรียนอ่านคำควบกล้ำได้ถูกต้องมากขึ้นหรือไม่

นำปัญหาการวิจัย มากำหนดหัวข้อปัญหาวิจัยชั้นเรียน โดยควรเขียนหัวขัอปัญหาวิจัยชั้นเรียน ให้ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ คุณลักษณะที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา กลุ่มนักเรียนที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา และ วิธีการที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนา เช่น

คุณลักษณะที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา : การอ่านคำควบกล้ำ
กลุ่มนักเรียนที่จะพัฒนา : นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนทวีวิทยา
วิธีการที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา : แบบฝึกอ่านคำคล้องจอง

ห้วข้อปัญหาวิจัยในชั้นเรียน : "การพัฒนาความสามารถในการอ่านคำควบกล้ำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทวีวิทยา โดยใช้แบบฝึกอ่านคำคล้องจอง" หรือ "ผลการใช้แบบฝึกอ่านคำคล้องจองที่มีต่อความสามารถในการอ่านคำควบกล้ำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทวีวิทยา " หรือ "การเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านคำควบกล้ำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทวีวิทยา ก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกอ่านคำคล้องจอง "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น