วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทักทายกัน

สวัสดีค่ะ ครูดีใจมากที่นิสิตเข้ามาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในบล็อกความรู้นี้ เราเกิดมาในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถค้นหาความรู้ได้ตลอดเวลาอย่างไร้พรมแดน ถ้ามัวแต่รอคอยรับฟังความรู้จากครูในห้องเรียนอย่างเดียว จะกลายเป็นเต่าที่ก้าวตามคนอื่นไม่ทัน ต้องยืนอยู่แถวหลังๆ หมดโอกาสที่จะได้รับสิ่งดี ๆ คนยุคใหม่ที่ต้องการประสบผลสำเร็จต้องหมั่นใฝ่หาความรู้ให้ทันต่อวิทยาการ เพื่อจะได้นำไปใช้พัฒนาตนเองให้สามารถก้าวไปยืนแถวหน้า มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ก่อนคนอื่น เช่น มีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง มีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานในหน่วยงานที่มั่นคง มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น


ครูดีใจที่นิสิตเข้ามาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในบล็อกความรู้ที่ครูสร้างขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่าลูกศิษย์ของครูพร้อมที่จะก้าวไปยืนแถวหน้า ครูขอให้นิสิตประสบผลสำเร็นตามที่ตั้งใจ และมีอนาคตเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

และครูจะดีใจยิ่งขึ้นถ้านิสิตแสดงร่องรอยของการเข้ามาค้นคว้าเพิ่มเติม โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ในบล็อกแห่งนี้ หรือแนะนำเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป

อ.เพชร

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

16)ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยคืออะไร?


ตัวแปร (Variables)

หมายถึง คุณลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปรค่าได้ มากกว่า 1 ค่า เช่น เพศ แบ่งเป็นเพศหญิงกับเพศชาย ระดับชั้นเรียน แบ่งเป็น ชั้นป.1 ชั้นป.2 ชั้นป.3 วิธีสอน แบ่งเป็น วิธีสอนโดยใช้เกมการศึกษา กับวิธีสอนตามปกติ

ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในชั้นเรียน มี 3 ชนิด คือ
1.ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือ ตัวแปรที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผลตามมา
2. ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือ ตัวแปรที่เป็นผลอันเนื่องมาจากตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ
3.ตัวแปรเกิน (Extraneous Variable) คือ ตัวแปรที่ส่งผลต่อตัวแปรตาม แต่ผู้วิจัยไม่ต้องการศึกษา ถ้าไม่ควบคุมไว้จะทำให้ผลการวิจัยคลาดเคลื่อน

การพิจารณาตัวแปรจากสมมุติฐานการวิจัย

สมมุติฐานการวิจัย : นักเรียนที่เรียนโดยใช้เกมการศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สูงกว่านักเรียนที่เรียนโดยวิธีปกติ

ตัวแปรอิสระ = วิธีสอน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ การาสอนโดยใช้เกมการศึกษา กับการสอนโดยวิธีปกติ
ตัวแปรตาม = ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ตัวแปรเกิน = ระดับสติปัญญาของนักเรียน ความสามารถในการสอนของครู

15)สมมุติฐานการวิจัยคืออะไร?

สมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นการคาดคะเนนคำตอบของการวิจัย ไว้ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1. แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป
2. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. ทดสอบได้ด้วงวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือสถิติ
โดยต้องทำการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะทำวิจัย จนเกิดความชัดเจนในปัญหา และเห็นแนวทางของคำตอบว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะใดก่อนคาดคะเนคำตอบ

สมมุติฐานการวิจัย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สมมุติฐานการวิจัยแบบมีทิศทาง กับสมมุติฐานการวิจัยแบบไม่มีทิศทาง
สมมุติฐานการวิจัยแบบมีทิศทาง คือสมมุติฐานที่เขียนระบุทิศทางของตัวแปรไว้อย่างชัดเจน เช่น
•ก่อนเรียนนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าหลังเรียน
•นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่า นักเรียนที่เรียนด้วยวิธีปกติ
•นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหาสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
สมมุติฐานการวิจัยแบบไม่มีทิศทาง คือสมมุติฐานที่ ไม่ระบุทิศทางความสัมพันธ์ของตัวแปรเพียงแต่บอกว่าแตกต่างกันหรือสัมพันธ์กันเท่านั้น เช่น
•นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกัน
•นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปกับนักเรียนที่เรียนด้วยวิธีปกติมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน
•นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหาแตกต่างจากเกณฑ์ที่กำหนด

การเขียนสมมุติฐานการวิจัยจะเขียนแบบมีทิศทางหรือไม่มีทิศทาง ขึ้นอยู่กับการค้นคว้าเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องว่าได้ข้อมูลที่มีแนวโน้มอย่างไร ถ้ามีแนวโน้มไปทางใดทางหนึ่งมากพอที่จะยืนยันได้ว่าคำตอบจะเป็นไปทางใดทางหนึ่งให้ตั้งสมมุติฐานแบบมีทิศทาง แต่ถ้าไม่มีข้อมูลมากพอที่จะยืนยันได้ให้ตั้งแบบไม่มีทิศทาง

ตัวอย่างการตั้งสมมุติฐานการวิจัยในชั้นเรียน
นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่เรียนโดยใช้เพลงประกอบการวาดภาพมีความคิดสร้างสรรค์ สูงกว่าก่อนเรียน

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

14)กำหนดวัตถุประสงค์วิจัยอย่างไร?

การกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย

เป็นการขยายชื่อเรืองวิจัยให้ชัดเจนขึ้น ว่าผู้วิจัยต้องการศึกษาอะไร ? กับใคร ? ในแง่มุมใด ? โดยนิยมเขียนเรียงเป็นข้อ ๆ ตามประเด็นที่ต้องการศึกษา โดยมีแนวทางในการเขียน ดังนี้

1.ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพื่อ....”

2.ตามด้วยลักษณะที่ต้องการทำในงานวิจัย เช่น เพื่อศึกษา.... เพื่อเปรียบเทียบ.... เพื่อพัฒนา....

3.ตามด้วยสิ่งที่ต้องการศึกษา หรือต้องการพัฒนา เช่น เพื่อศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์....

4.ตามด้วยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการวิจัย เช่น เพื่อศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนอนุบาลเด็กดี

5.ตามด้วยวิธีการหรือนวัตกรรมที่ใช้ในการพัฒนา เช่น
เพื่อศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนอนุบาลเด็กดี หลังจากการเรียนโดยใช้เกมการศึกษา

ตัวอย่างการกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย

ชื่อเรื่องวิจัย : การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3โรงเรียนอนุบาลเด็กดี โดยใช้เพลงประกอบการวาดภาพ
จุดมุ่งหมายของการวิจัย :
1. เพื่อศึกษาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ภายหลังจากการเรียนโดยใช้เพลงประกอบการวาดภาพ
2. เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ก่อนและหลังจากการเรียนโดยใช้เพลงประกอบการวาดภาพ

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

13)เขียนโครงร่างวิจัยชั้นเรียนอย่างไร?

โครงร่างการวิจัย (Research proposal)
เป็นการเขียนแผนการทำวิจัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัย ช่วยให้ผู้วิจัยทราบว่า จะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน ขั้นตอนใดทำก่อน ขั้นตอนใดทำหลัง ช่วยให้เห็นปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างทำวิจัย และหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า ช่วยวางแผนระยะเวลา วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร และงบประมาณ ใช้เป็นเอกสารสำคัญที่จะนำไปใช้ขออนุมัติทำวิจัย หรือขอทุนวิจัยจากหน่ายงาน

ส่วนประกอบของโครงร่างวิจัย

1. ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อปัญหาวิจัย เขียนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กระทัดรัด ชัดเจน และสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยทราบประเด็นสำคัญของเรื่องว่า ต้องการศึกษา หรือพัฒนาอะไร ? (ตัวแปร) กับใคร ? (ประชากร) โดยใช้วิธีการใด ? (นวัตกรรม)

2. ความเป็นมาของปัญหา เป็นการเขียนให้ผู้อ่านงานวิจัยทราบเหตุผลที่ทำวิจัยเรื่องนี้ โดยกล่าวถึงสภาพที่ควรจะเป็นกว้าง ๆ ตามนโยบาย หลักการ หรือเจตนารมณ์ขององค์กร ตามด้วยสภาพปัจจุบัน เน้นให้เห็นปัญหา ผลเสียที่เกิดจากปัญหา และ ประโยชน์ที่ได้จากการทำวิจัย ควรมีทฤษฎี แนวคิด หลักการ หรือข้อเท็จจริงพื้นฐาน อ้างอิง เพื่อสนับสนุนให้สิ่งที่เขียนน่าเชื่อถือ

3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ป็นหัวใจสำคัญของการทำวิจัย เพราะ เป็นส่วนที่แสดงให้ทราบว่า ผู้วิจัยต้องการศึกษาอะไร ? ศึกษากับใคร ? ศึกษาในแง่มุมใด ? โดยเขียนเรียงเป็นข้อ ๆ ตามประเด็นที่ต้องการศึกษา
เมื่อเขียนจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ต้องทำตามให้ครบทุกข้อ

4. สมมุติฐานการวิจัย เป็นการคาดคะเนนคำตอบของการวิจัย ไว้ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 1. แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป 2. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. ทดสอบได้ด้วงวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือสถิติ โดยต้องทำการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะทำวิจัย จนเกิดความชัดเจนในปัญหา และเห็นแนวทางของคำตอบว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะใดก่อนคาดคะเนคำตอบ

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการระบุคุณค่าที่ได้จากการวิจัย ว่างานวิจัยให้ความรู้อะไร ความรู้ที่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง นำไปใช้ประโยชน์เรื่องใดได้บ้าง โดยต้องไม่เขียนความสำคัญกว้างเกินขอบเขตของปัญหา

6. ขอบเขตของการวิจัย เป็นการระบุให้ทราบว่า หัวข้อปัญหาที่จะทำวิจัยมีขอบเขตของการศึกษาค้นคว้ากว้างแค่ไหน เพื่อให้เห็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย สิ่งที่ควรกำหนดในขอบเขตของการวิจัย คือ ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปร

7. นิยามศัพท์เฉพาะ เป็นการสื่อความหมายคำที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยให้ชัดเจน เพื่อให้ผู่อ่านเข้าใจตรงกับผู้วิจัยว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไร คำที่ควรนิยามในงานวิจัย เช่น ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย คำศัพท์ทางวิชาการ คำที่ผู้วิจัยกำหนดความหมายขึ้นเฉพาะในงานวิจัยเรื่องนั้น

8. การศึกษาเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นการเกี่ยวกับ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริง แนวคิด ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยที่ต้องการศึกษา และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ต้องการศึกษาทั้งงานวิจัยของชาวไทยและงานวิจัยของชาวต่างประเทศ ผู้วิจัยต้องสรุปประเด็นสำคัญทุกหัวข้อที่นำเสนอให้เป็นภาพรวมด้วยภาษาของผู้วิจัย การศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่จะวิจัยดียิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการตั้งสมมุติฐาน และอภิปรายผลการวิจัยด้วย

9. วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการเขียนให้ทราบว่าวิจัยเรื่องนี้ จะศึกษากับใคร ใช้เครื่องมืออะไรเก็บข้อมูล และ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้
- ประชากร กลุ่มตัวอย่าง
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล

10. งบประมาณ ค่าใช้จ่าย เป็นการเขียนชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำวิจัย และรวมงบประมาณทั้งหมดว่าต้องใช้จำนวนเท่าไร

11. ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย เป็นการกำหนดระยะเวลาดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นตอนว่าขั้นตอนใดจะลงมือทำเมื่อไร

12. บรรณานุกรม เป็นการเขียนอ้างอิงหนังสือ ตำรา และงานวิจัย ที่ได้ไปทำการศึกษาค้นคว้ามาและปรากฎอยู่ในโครงร่างการวิจัย โดยจะต้อง เขียนตามหลักการเขียนบรรณานุกรม





วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

12)หาคุณภาพนวัตกรรมอย่างไร?

การหาคุณภาพของนวัตกรรม

นวัตกรรมที่ครูพัฒนาขึ้นเพื่อใช้แก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้จริง อาจตรวจสอบโดยใช้ดุลยพินิจของผู้เชี่ยวชาญ หรือตรวจสอบโดยการทดลองใช้สื่อ

การตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ


เป็นการนำนวัตกรรมที่ครูสร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างน้อย 3 คนตรวจสอบ ถ้ามีความเห็นว่าเหมาะสมสอดคล้องกันอย่างน้อย 2 คน แสดงว่า เนื้อหาหรือรูปแบบของนวัตกรรม มีคุณภาพ โดยทั่วไป นิยมหาดัชนีความสอดคล้อง IOC โดยสร้างแบบประเมิน คุณภาพนวัตกรรมไปให้ผู้เชี่ยวชาญ อย่างน้อย 3 คน พิจารณาให้คะแนน ดังนี้

+1 หมายถึง แน่ใจว่าลักษณะของนวัตกรรมสอดคล้องกับจุดประสงค์
0 หมายถึง ไม่แน่ใจลักษณะของนวัตกรรมสอดคล้องกับจุดประสงค์
-1 หมายถึง แน่ใจว่าลักษณะของนวัตกรรมไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์

จากนั้นนำคะแนนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน มาวิเคราะห์หาดัชนีความสอดคล้องโดยใช้สูตร

หาดัชนีความสอดคล้องที่แสดงว่านวัตกรรมเหมาะสม ต้องมีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป
การตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรมโดยการนำไปทดลองใช้

ขั้นที่ 1 ทดลอง 1:1 โดยนำสื่อที่สร้างขึ้นไปทดลองกับนักเรียน เก่ง ปานกลาง และอ่อนอย่างละ 1 คน เพื่อดูข้อบกพร่อง และแก้ไข

ขั้นที่ 2 ทดลองกลุ่มเล็ก โดยนำสื่อที่สร้างขึ้นไปทดลองกับนักเรียน 5-7 คน ที่ เก่ง ปานกลาง และอ่อน เพื่อหาข้อบกพร่อง และปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นที่ 3 ทดลองกลุ่มใหญ่ โดยนำสื่อที่สร้างขึ้นไปทดลองกับนักเรียน ที่ยังไม่เคยเรียนเนื้อหามาก่อน หนึ่งห้องเรียน ประมาณ 30 คน โดยให้นักเรียนเรียนโดยใช้นวัตกรรมที่สร้างขึ้น แล้วให้ทำแบบฝึกหัด ทุกหน่วย และทดสอบหลังเรียน แล้วนำคะแนนแบบฝึกหัด และคะแนนสอบหลังเรียนมาคำนวณหาประสิทธิภาพ

สูตรการคำนวณหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม

ประสิทธิภาพของกระบวนการ E1=
ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ E2 =
เมื่อ แทน ผลรวมของคะแนนแบบฝึกหัดทุกบทเรียน
แทน ผลรวมของคะแนนสอบหลังเรียน
N แทน จำนวนนักเรียน
A แทน คะแนนเต็มของแบบฝึกหัดทั้งบทเรียน
B แทน คะแนนเต็มของแบบทดสอบหลังเรียน

เกณฑ์ตัดสินประสิทธิภาพของนวัตกรรม
ด้านความรู้ ต้องมีค่า E1 / E2 = 80 / 80
ด้านทักษะ ต้องมีค่า E1 / E2 = 70 / 70
ค่า E1 กับ E2 แตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 5


จากผลการวิเคราะห์ E1 / E2 = 85 / 82 แสดงว่านวัตกรรมที่ครูสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ

11)เลือกนวัตกรรมอย่างไร?

นวัตกรรม (Innovation) คือ แนวคิด วิธีการ กระบวนการ หรือสิ่งประดิษฐ์ ใหม่ ๆ ที่นำมาใช้แก้ปัญหา หรือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.นวัตกรรมประเภทเทคนิควิธีสอน เช่น การสอนตามแนวพหุปัญญา การสอนตามแนวมอนเตสตอรี่ การสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ การสอนแบบสตอริไลน์ การสอนแบบศูนย์การเรียน การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน การสอนแบบอุปนัย การสอนแบบนิรนัย การสอนโดยใช้บทบาทสมมุติ ฯลฯ

2.นวัตกรรมประเภทสิ่ง บทเรียนสำเร็จรูป บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชุดการสอน แบบฝึกทักษะ นิทาน เพลง เกม การ์ตูน วีดีทัศน์ ฯลฯ

ก่อนตัดสินใจเลือกนวัตกรรม ครูต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เช่น
1. ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เพื่อให้เข้าใจลักษณะ ของพฤติกรรมอย่างชัดเจน
2. จิตวิทยาการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเลือกนวัตกรรมได้สอดคล้อง กับธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละวัย
3. ทฤษฎีการสอนและหลักการสอน เพื่อให้สามารถเลือกเทคนิควิธี กิจกรรม หรือสื่อ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา
4. ชนิดของนวัตกรรม เพื่อให้เลือกนวัตกรรมได้สอดคล้องกับลักษณะปัญหาที่ต้องการแก้ไข

ตัวอย่างการเลือกนวัตกรรมปัญหาการเรียนรู้ :นักเรียนขาดทักษะทางด้านภาษา


สิ่งที่ควรศึกษา :

•ทักษะการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัย
•หลักการพัฒนาทักษะด้านภาษา
•การพัฒนาทักษะภาษาโดยใช้นิทาน
•งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาทักษะทางภาษาโดยใช้นิทาน

นวัตกรรมที่เลือก : กิจกรรมการเล่านิทาน