วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

13)เขียนโครงร่างวิจัยชั้นเรียนอย่างไร?

โครงร่างการวิจัย (Research proposal)
เป็นการเขียนแผนการทำวิจัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัย ช่วยให้ผู้วิจัยทราบว่า จะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน ขั้นตอนใดทำก่อน ขั้นตอนใดทำหลัง ช่วยให้เห็นปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างทำวิจัย และหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า ช่วยวางแผนระยะเวลา วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร และงบประมาณ ใช้เป็นเอกสารสำคัญที่จะนำไปใช้ขออนุมัติทำวิจัย หรือขอทุนวิจัยจากหน่ายงาน

ส่วนประกอบของโครงร่างวิจัย

1. ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อปัญหาวิจัย เขียนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กระทัดรัด ชัดเจน และสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยทราบประเด็นสำคัญของเรื่องว่า ต้องการศึกษา หรือพัฒนาอะไร ? (ตัวแปร) กับใคร ? (ประชากร) โดยใช้วิธีการใด ? (นวัตกรรม)

2. ความเป็นมาของปัญหา เป็นการเขียนให้ผู้อ่านงานวิจัยทราบเหตุผลที่ทำวิจัยเรื่องนี้ โดยกล่าวถึงสภาพที่ควรจะเป็นกว้าง ๆ ตามนโยบาย หลักการ หรือเจตนารมณ์ขององค์กร ตามด้วยสภาพปัจจุบัน เน้นให้เห็นปัญหา ผลเสียที่เกิดจากปัญหา และ ประโยชน์ที่ได้จากการทำวิจัย ควรมีทฤษฎี แนวคิด หลักการ หรือข้อเท็จจริงพื้นฐาน อ้างอิง เพื่อสนับสนุนให้สิ่งที่เขียนน่าเชื่อถือ

3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ป็นหัวใจสำคัญของการทำวิจัย เพราะ เป็นส่วนที่แสดงให้ทราบว่า ผู้วิจัยต้องการศึกษาอะไร ? ศึกษากับใคร ? ศึกษาในแง่มุมใด ? โดยเขียนเรียงเป็นข้อ ๆ ตามประเด็นที่ต้องการศึกษา
เมื่อเขียนจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ต้องทำตามให้ครบทุกข้อ

4. สมมุติฐานการวิจัย เป็นการคาดคะเนนคำตอบของการวิจัย ไว้ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 1. แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป 2. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย
3. ทดสอบได้ด้วงวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือสถิติ โดยต้องทำการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะทำวิจัย จนเกิดความชัดเจนในปัญหา และเห็นแนวทางของคำตอบว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะใดก่อนคาดคะเนคำตอบ

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการระบุคุณค่าที่ได้จากการวิจัย ว่างานวิจัยให้ความรู้อะไร ความรู้ที่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง นำไปใช้ประโยชน์เรื่องใดได้บ้าง โดยต้องไม่เขียนความสำคัญกว้างเกินขอบเขตของปัญหา

6. ขอบเขตของการวิจัย เป็นการระบุให้ทราบว่า หัวข้อปัญหาที่จะทำวิจัยมีขอบเขตของการศึกษาค้นคว้ากว้างแค่ไหน เพื่อให้เห็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย สิ่งที่ควรกำหนดในขอบเขตของการวิจัย คือ ประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตัวแปร

7. นิยามศัพท์เฉพาะ เป็นการสื่อความหมายคำที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยให้ชัดเจน เพื่อให้ผู่อ่านเข้าใจตรงกับผู้วิจัยว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไร คำที่ควรนิยามในงานวิจัย เช่น ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย คำศัพท์ทางวิชาการ คำที่ผู้วิจัยกำหนดความหมายขึ้นเฉพาะในงานวิจัยเรื่องนั้น

8. การศึกษาเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นการเกี่ยวกับ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริง แนวคิด ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยที่ต้องการศึกษา และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ต้องการศึกษาทั้งงานวิจัยของชาวไทยและงานวิจัยของชาวต่างประเทศ ผู้วิจัยต้องสรุปประเด็นสำคัญทุกหัวข้อที่นำเสนอให้เป็นภาพรวมด้วยภาษาของผู้วิจัย การศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่จะวิจัยดียิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการตั้งสมมุติฐาน และอภิปรายผลการวิจัยด้วย

9. วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการเขียนให้ทราบว่าวิจัยเรื่องนี้ จะศึกษากับใคร ใช้เครื่องมืออะไรเก็บข้อมูล และ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร ประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้
- ประชากร กลุ่มตัวอย่าง
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล

10. งบประมาณ ค่าใช้จ่าย เป็นการเขียนชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำวิจัย และรวมงบประมาณทั้งหมดว่าต้องใช้จำนวนเท่าไร

11. ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย เป็นการกำหนดระยะเวลาดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นตอนว่าขั้นตอนใดจะลงมือทำเมื่อไร

12. บรรณานุกรม เป็นการเขียนอ้างอิงหนังสือ ตำรา และงานวิจัย ที่ได้ไปทำการศึกษาค้นคว้ามาและปรากฎอยู่ในโครงร่างการวิจัย โดยจะต้อง เขียนตามหลักการเขียนบรรณานุกรม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น